Turning Red Disney เขินแรงแดงเป็นแพนด้า ภาพยตร์เรื่องล่าสุดจากดิสนีย์และพิกซาร์ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นอีกเรื่องที่ชวนให้เรายิ้ม สำหรับผู้ใหญ่มันอาจย้อนความทรงจำไปสู่ยุค 90s หรือตอนที่เราอายุ 13 และสำหรับใครที่อยู่ในวัยเดียวกับเมยหลินนี่คงเป็นภาพยนตร์ที่เข้าอกเข้าใจวัยรุ่นชาวเอเชียที่สุดเรื่องหนึ่ง
ด้วยเรื่องราวของ ‘เมยหลิน’ สาวเชื้อสายจีนอายุ 13 ปีลูกสาวศาลเจ้าที่บูชาบรรพบุรุษที่สืบทอดมาจากท่าน ‘ซั่นหยี’ ผู้พิทักษ์แพนด้าแดง เมยหลินคือเด็กดีลูกรักของแม่ที่ได้ดั่งใจทุกอย่างทั้งการเรียนความประพฤติ แต่ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเธอกำลังจะกลายเป็นสาวเต็มตัวและที่หนักกว่านั้นคือเธอได้กลายเป็นแพนด้าแดงเพราะ ‘พร’ ที่ส่งผ่านให้ผู้หญิงในตระกูลที่เมื่ออารมณ์พลุ่งพล่านเมื่อไหร่จะกลายร่างเมื่อนั้น!
แม้จะย้อนกลับไปเซ็ตในยุค 90s แต่หัวใจของ Turning Red เขินแรงแดงเป็นแพนด้า ที่พูดเรื่องการก้าวข้ามผ่านวัยจากการเป็นเด็กสาวสู่การเป็นผู้หญิงเต็มตัวนั้นไม่เคยเก่าเกินไปสำหรับวัยไหน เพราะเรื่องก็ออกมาได้สนุกน่ารัก แต่ก็มีความลึกในเนื้อหาที่สัมผัสทั้งความเจ็บปวด ด้านที่อ่อนแอ และน่าชังของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงการใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้เมื่อตีความเรื่องก็ดูแล้วสนุกขึ้นไปอีก
[เนื้อหาในบทความต่อจากนี้อาจเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนที่ส่งผลต่ออรรถรสในการชมได้]
Turning Red Disney
Turning Red Disney แน่นอนว่าสัญญลักษณ์ที่เด่นชัดและสำคัญที่สุดคือแพนด้าแดงที่สามารถตีความออกมาได้หลายอย่าง
- อารมณ์พลุ่งพล่านในวัยรุ่น – เพราะเมื่อไหร่ที่อารมณ์สวิงสุด ๆ เมยหลินจะกลายร่างหลายคนคงเห็นภาพที่ชัดเจนว่ามันเป็นตัวแทนของอารมณ์พี่พลุ่งพล่านในวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ เศร้า เขินอาย รัก หรือ โกรธ ที่พวกเขาต้องเผชิญเพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป การกลายร่างกลับไปกลับมาจึงเหมือนเป็นตัวแทนของอารมณ์ของวัยรุ่นนั่นเอง
- ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย – การที่แพนด้าแดงมีขน ตัวมีกลิ่นและมีสีแดง อาจจะสื่อความถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยรุ่น ตัวใหญ่ขึ้น มีขนขึ้นในบางจุด มีกลิ่นตัว และอีกนัยหนึ่งสีแดงของแพนด้าก็สื่อถึงสีของเลือดหรือประจำเดือนซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านจากเด็กหญิงไปสู่วัยผู้ใหญ่ทางกายภาพ สื่อผ่านฉากที่พูดถึงการกลายร่างเชื่อมโยงผ่านการมีประจำเดือนมาครั้งแรก และการที่เด็กผู้หญิงมักจะซ่อนมันไว้หรือรู้สึกไม่มั่นใจกับร่างกาย รูปร่างหน้าตาของตัวเองในช่วงนั้นทั้งที่มันเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นอะไรที่ควรโอบกอดไว้
- ความไม่มั่นใจ – การที่เมยหลินคืนร่างได้เมื่อเพื่อนมาให้กำลังใจ หรือคุมสติได้เวลานึกถึงเพื่อน ๆ ที่ภูมิใจในตัวเธอและคอยอยู่เคียงข้างสะท้อนให้เห็นว่าแพนด้าแดงอาจจะเป็นตัวแทนของความไม่มั่นใจในตัวเอง แต่การยอมรับจากเพื่อน จากสังคมจะช่วยให้ควบคุมความไม่มั่นใจนี้ได้ง่ายขึ้นมาก แม้มันจะไม่หายไปเสียทีเดียว เพราะในวัยนี้เพื่อนและการยอมรับของสังคมมาเป็นที่หนึ่งเหนือใคร
- ความเป็นตัวของตัวเอง – อีกความหมายหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการใช้แพนด้าเป็นการสื่อถึงความเป็นตัวของตัวเองและการควบคุมก็เหมือนกับการสำรวม ซึ่งสำหรับผู้หญิงในยุคของหมิง อาม่า และเหล่าอาอี๊ ความเป็นตัวของตัวเองความไม่สำรวมทั้งหลายต้องเก็บไว้ สิ่งนี้เปลี่ยนไปในยุคของเมยหลินและการตัดสินใจที่จะเก็บแพนด้าแดงไว้แทนที่จะสะกดมันก็สะท้อนถึงความเป็นหญิงที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และฉากท้าย ๆ ที่ ซั่นหยีกับเมยหลินเอาจมูกชนกันก็เป็นฉากที่ยืนยันว่าทางเลือกที่ต่างกันนั้นไม่มีอะไรผิดถูก
- ทางเลือกของชีวิตในช่วงวัยรุ่น – การที่เมยหลินมีโอกาสเดียวที่จะเลือกกำจัดหรือเก็บแพนด้าแดงไว้ สะท้อนถึงความเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเด็กวัยรุ่น ที่บางคนผ่านพ้นมาและกลับไปเป็นคนคล้าย ๆ เดิมกับที่เป็นก่อนหน้า หรือบางคนช่วงเวลานี้ได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ทำให้ได้รู้จักตัวเอง แต่หากควบคุมไม่ได้และด้านมืดของแพนด้าแดงครอบงำจิตใจเขาอาจจะไม่ได้มีทางเลือกเหมือนเมยหลิน และอาจกลายร่างไปตลอดกาลก็ได้ใครจะรู้
- วัฒนธรรมและค่านิยม – การที่เรื่องผูกว่าการกลายร่างเป็นแพนด้านั้นมีที่มาจากความต้องการจะปกป้องตัวเองและลูกของท่านซั่นหยีและสิ่งนี้ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อพวกเขามาอยู่ในประเทศอื่น ‘พร’ จึงกลายเป็น ‘ความยุ่งยาก’ อาจจะสะท้อนให้เห็นมารยาท ค่านิยมบางอย่างที่เคยเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าดีงาม แต่ในสมัยนี้ ในสถานที่อื่น กลับกลายเป็นสิ่งที่ผิดแปลกเหมือนสัตว์ป่า เช่นการปกป้องลูกสุดตัวของหมิง ความเกรี้ยวกราด หรืออารมณ์สุดขั้วบางอย่างที่ต้องถูกควบคุมไว้ แต่หากเอามาใช้ให้ถูกวิธีในช่วงเวลาที่ถูกต้องอาจเป็นประโยชน์ก็ได้
นอกจากการใช้แพนด้าแดงเป็นสัญญลักษณ์สื่อความ Turning Red ยังมีรายละเอียดที่สดใหม่ชวนชื่นใจอยู่ไม่น้อย ด้วยความต่างจากแอนเมชั่นมักนำเสนอเรื่องราวของคนที่เป็น Underdog หรือเด็กที่แปลกแยก พิเศษกว่าคนอื่นที่ต่อสู้เพื่อที่จะได้รับการยอมรับ แต่เมยหลินนั้นเป็นเด็กดี แม้จะไม่ใช่ดาวเด่น มีเพื่อนรำคาญบ้าง แต่รวม ๆ ก็เป็นเด็กธรรมดาออกจะเนิร์ด ๆ ด้วยซ้ำ และตอนสุดท้ายของเรื่องเราได้เห็นเมยหลินที่เป็นตัวของตัวเองและสบาย ๆ มากขึ้นโดยที่เธอไม่ต้องเปลี่ยนไป 180 องศา เหมือนจะบอกว่าความเป็นตัวเองนั้นไม่ต้องเป็นอะไรที่หลุดโลก การชอบเรียน ชอบร้องคาราโอเกะ และกรี๊ดผู้ชายในคอนเสิร์ต กับการเรียนดี ช่วยพ่อแม่ทำงานนั้นไปด้วยกันได้
อีกอย่างที่ Turning Red แตกต่างจากภาพยนตร์ Coming of Age นำโดยเด็กผู้หญิงทั่วไปอีกหลาย ๆ เรื่องที่ตัวเอกมักจะมีคนที่ชอบในใจ แต่ในเรื่องนี้ใช้ความรักและปลื้มของเมยหลินและเป็นจุดที่บอกเล่าความสนใจในเพศตรงข้ามที่ก่อตัวขึ้นเพราะวัยและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผ่านการวาดตัวละครชายให้หน้าตาธรรมดาแต่ในวัยนั้นแรงดึงดูดทางเพศทำให้พวกเขาดูดีกว่าที่เป็นจริง เมยหลินจึงเป็นตัวแทนที่สมบูรณ์แบบของเด็กสาวที่กำลังค้นหาสมดุลระหว่างการเป็นลูกสาวของแม่และการเป็นตัวของตัวเอง เหมือนเด็กในวัยเดียวกัน เธอเริ่มสนใจเพศตรงข้าม มีดาราที่ชอบ ถึงจะมั่นใจในตัวเองแต่ก็ยังต้องการการยอมรับจากคนรอบตัว
นอกจากที่เกี่ยวกับเมยหลินแล้วอีกประเด็นหนึ่งที่ทำออกมาได้ดีและน่ารักคือพ่อและแม่ รวมไปถึงญาติ ๆ ในเรื่อง เพราะนี่เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่สะท้อนความเป็นใหญ่ในบ้านของผู้หญิงในครอบครัวชาวเอเซีย ซึ่งเป็นเรื่องจริงสำหรับหลายบ้าน ขัดกับภาพจำของสังคมชายเป็นใหญ่ สะท้อนผ่านฉากที่พ่อเป็นคนทำกับข้าวหรือโดนแม่ยายไล่บี้ หรืออีกฉากซึ่งเป็นหนึ่งในฉากที่น่าประทับใจที่สุดในเรื่องคือฉากที่เมยหลินเจอกับแม่วัยเด็กในป่าไผ่ ซึ่งสะท้อนและเติมเต็มบางอย่างที่ขาดหายไปในความสัมพันธ์ของเมยหลินกับแม่ หรือเด็กสาวอีกหลายคน คือความเข้าใจอย่างแท้จริงของปัญหา ได้เห็นความเปราะบางของอีกฝ่ายโดยไม่มีฉากหน้าของความพยายามจะป็นลูกที่แสนดี และแม่ที่สมบูรณ์พร้อมมากั้น หมิงที่เป็นแม่ก็ได้ย้อนกลับไปนึกถึงตอนที่เป็นวัยรุ่นเมื่อเธอก็มีความกลัวและกดดันไม่แพ้กับเมยหลิน และเมยหลินก็ได้เห็นความอ่อนแอของแม่ผู้ดูจะไร้เทียมทานเช่นกัน
นอกจากความหมายที่ดีงามในบท งานภาพและรายละเอียดต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าชื่นชม
- บ้านและศาลเจ้าของเมยหลินและครอบครัวของเธอซึ่งเป็นศาลเจ้าโบราณแต่เห็นตึกหน้าตาโมเดิร์นอยู่ไม่ไกลนัก สะท้อนให้เห็นการที่ครอบครัวนี้เป็นตัวแทนของชาวเอเซียหัวเก่าในสังคมยุคใหม่ และสร้างคอนทราสท์กับวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้อย่างชัดเจน
- การใช้สีเขียวตัดกับแดงในจุดต่าง ๆ เพื่อขับเน้นสีจัดจ้านของแพนด้า เมยหลิน และ อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน
- ดนตรีที่ผสมความเป็นจีนได้อย่างโดดเด่นแต่กลมกลืน และหลายครั้งสร้างรอยยิ้มได้มาก เช่นฉากไคลแมกซ์ที่มีเพลงบอยแบนด์มาผสมกับเสียงสวดของอาม่าอาอี๊ ก็ทั้งเพราะทั้งฉากไปพร้อมกัน
ฉะนั้นถ้าจะให้สรุป Turning Red เขินแรงแดงเป็นแพนด้า เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่มาครบทั้งแพคเกจ เนื้อเรื่องดี เพลงเพราะ ๆ นอกจากรอยยิ้มที่จะติดค้างอยู่ที่ริมฝีปากแล้วยังทิ้งอะไรให้เราได้ขบคิดต่ออีกนิด ว่าแล้วแพนด้าแดงในตัวของเราซ่อนตัวอยู่ที่ไหนบ้างหรือเปล่า และเราได้โอบกอดมันบ้างแล้วหรือยัง Turning Red พร้อมสตรีมแล้ววันนี้ทาง Disney+ Hotstar Turning Red Disney